การรักษารากฟัน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
top of page
  • Writer's pictureIDEAL SMILE

การรักษารากฟัน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด



มีหลายคน ที่เมื่อรู้ว่าต้องรักษารากฟัน มักจะเกิดความเครียด กังวล กลัวนู่นนี่นั่น ต่าง ๆ นานา พาลไม่มาตามนัดของทันตแพทย์เอาซะดื้อ ๆ สุดท้ายปล่อยฟันที่ต้องรักษาไว้จนเกินเยียวยา บางคนเลือกถอนทิ้ง หมอขอบอกว่าไม่ต้องกังวล ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านทันตกรรมก้าวไกลไปเกินกว่าคำว่าเจ็บปวดมาก เมื่อทันตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องรักษา และคนไข้มีความพร้อม ขอแค่ให้ความร่วมมือ รับรองว่า การรักษารากฟัน จะช่วยให้คนไข้มีฟันไว้ใช้งานได้อีกยาวนานเลยทีเดียว


การรักษารากฟัน คืออะไร

การรักษารากฟัน คือการทำความสะอาดคลองรากฟัน ด้วยการกำจัดเนื้อเยื่อโพรงฟันที่อักเสบ ติดเชื้อ หรือตายออกไป เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จากนั้นจะอุดปิดคลองรากฟันด้วยวัสดุพิเศษสำหรับอุดคลองรากฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าไปในคลองรากฟันได้อีก โดยที่ยังสามารถเก็บฟันซี่ดังกล่าวไว้ใช้งานได้ตามปกติ

การรักษานี้ เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่จำกัดเล็ก ๆ ข้างในตัวฟัน ซึ่งแกนฟันของเรามีช่องที่ประกอบไปด้วยเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก เนื้อเยื่อที่มีชีวิตเหล่านี้เรียกโดยรวมว่า “เนื้อเยื่อโพรงฟัน” (Dental pulp) และช่องที่เป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อโพรงฟันนั้นเรียกว่า “คลองรากฟัน” (Root canals) จำนวนของคลองรากฟันในฟันแต่ละซี่นั้นก็จะแตกต่างกันไป โดยฟันหน้ามีเพียง 1 คลองรากฟัน ในขณะที่ฟันกรามหลังมีมากกว่าถึง 3 คลองรากฟัน เพราะฉะนั้นการรักษาที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ ทันตแพทย์รักษารากฟันเท่านั้นที่จะช่วยเราได้


สาเหตุที่ต้องรักษารากฟัน

ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน ส่วนใหญ่เป็นฟันที่ผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่ร้าว แตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน และฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันและเกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน อาการที่พบคือ ปวดฟันรุนแรงจนนอนไม่หลับ หรือทำให้ต้องตื่นเนื่องจากปวดฟันมาก หรือมีอาการเสียวฟันมากเวลาดื่มของร้อนหรือเย็น รู้สึกเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร บางครั้งอาจพบว่าฟันเปลี่ยนสี มีสีคล้ำ มีอาการเหงือกบวม มีตุ่มหนอง หรือบวมบริเวณใบหน้า


วิธีการรักษารากฟัน

จากที่หมอเกริ่นข้างต้นว่าเทคโนโลยีด้านทันตกรรมก้าวล้ำไปไกลมาก เรามียาชา คอยเยียวยาทุกสิ่ง ทำให้การรักษาไม่เจ็บปวดและน่ากลัวอย่างที่คนไข้กังวล

ขั้นตอนแรกเริ่มจากการใส่ยาชา ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จากนั้นจึงกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน กำจัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อออกด้วยเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก ร่วมกับการล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน จากนั้น อุดคลองรากฟันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามาอาศัยได้อีก โดยปกติจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและสภาพการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่ หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการบูรณะตัวฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ


คำแนะนำเพิ่มเติม

หลังการรักษาในแต่ละครั้งอาจพบอาการปวดได้บ้าง ประมาณ 1-3 วันแรก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการปวดเป็นมากขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์ และไม่ควรใช้ฟันกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็ง หากยังไม่ได้บูรณะตัวฟันให้แข็งแรง เพราะอาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้

หลายคนสงสัยว่า ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันและบูรณะตัวฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะอยู่กับเราได้นานเท่ากับฟันปกติหรือไม่ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของแต่ละคน หากทันตแพทย์รักษารากฟัน กำจัดสาเหตุและเชื้อโรคได้หมด และการบูรณะฟันทำได้ดีไม่รั่วซึม ร่วมกับการดูแลฟันของเราให้เหมือนฟันปกติด้วยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หมั่นพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพียงเท่านี้ ฟันผุหรืออาการปวดฟันจะไม่กลับมาทักทายเราอีกแน่นอน



bottom of page